เกือบสองแสนรายชื่อทั่วโลก! เร่งจี้ร่างกฎหมายช้างไทย

เกือบสองแสนรายชื่อทั่วโลก! เร่งจี้ร่างกฎหมายช้างไทย

กรุงเทพฯ, 27 พฤษภาคม 2567 – องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย (World Animal Protection Thailand) พร้อมตัวแทนภาคประชาชน และคุณมารีญา พูลเลิศลาภ ทูตองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย ร่วมเป็นตัวแทนยื่นกว่า 172,000 รายชื่อ จาก 26 ประเทศทั่วโลก ต่อสำนักนายกรัฐมนตรี กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ เร่งทวงถามความคืบหน้า ‘ร่าง พ.ร.บ.ช้างไทย’ ฉบับภาคประชาสังคม ที่ถูกเสนอไปตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2565 เพื่อมุ่งแก้ปัญหาการทารุณกรรม และยกระดับสวัสดิภาพช้างที่ถูกแสวงหาประโยชน์ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว


คุณอรกร ธนชลกรณ์ หัวหน้าฝ่ายรณรงค์ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าวว่า “เราเห็นความจำเป็นเร่งด่วนของการมีกฎหมายที่จะปกป้องคุ้มครองช้างเลี้ยง จากการสำรวจของ
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก พบว่า จำนวนของช้างในธุรกิจท่องเที่ยวของไทยเพิ่มขึ้นถึง 1,110 ตัว
หรือร้อยละ 70 ภายในระยะเวลาเพียง 10 ปี จาก 1,688 ตัว ในปี พ.ศ. 2553 เป็น 2,798 ตัว ในปี พ.ศ. 2563
โดยกว่าร้อยละ 63 มีสภาพความเป็นอยู่ในเกณฑ์ย่ำแย่ ขาดอิสรภาพ ไม่ได้รับอาหารเพียงพอ และอยู่ในสภาพแวดล้อมตึงเครียด ดังที่ปรากฏว่ามีเหตุการณ์ช้างทำร้ายนักท่องเที่ยว หรือข่าวเกี่ยวกับช้างเลี้ยงที่เจ็บป่วย และต้องการการช่วยเหลือผ่านโซเชียลมีเดีย


ปัญหาดังกล่าวไม่เพียงแต่อยู่ในความสนใจของคนไทย แต่ยังรับรู้ไปถึงคนในประเทศต่างๆ ทั่วโลก
ที่ร่วมแสดงเจตจำนงต่อการแก้ปัญหาการทารุณกรรมและยกระดับสวัสดิภาพช้างที่ถูกแสวงหาประโยชน์ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ผ่านการลงชื่อสนับสนุน ‘ร่าง พ.ร.บ. ช้างไทย’ ฉบับภาคประชาสังคม แล้วกว่า 172,000 คน จาก 26 ประเทศ รวมทั้งบริษัทท่องเที่ยวชั้นนำ 12 บริษัท จากประเทศอังกฤษ อเมริกา แคนาดา สวีเดน และเดนมาร์ค” คุณอรกร กล่าว
ประเทศไทยมีกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการดูแลช้างอย่างน้อย 27 ฉบับ และเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีช้างอยู่ในสถานะของ ‘ช้างป่า’ และ ‘ช้างเลี้ยง’ โดยกฎหมายสำคัญอย่าง พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ให้ความคุ้มครองเฉพาะช้างป่า สำหรับช้างเลี้ยง ยังไม่มีกฏหมายเฉพาะ แต่ได้รับการกำหนดให้ขึ้นทะเบียน
ตาม พ.ร.บ. สัตว์ยานพาหนะ เหมือน โค กระบือ และได้รับคุ้มครองร่วมกับสัตว์เลี้ยง อย่างสุนัขและแมว ภายใต้ พ.ร.บ. ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์


แม้จะมีความพยายามจัดการด้านสวัสดิภาพ ด้วยการวางมาตรฐานการจัดกิจกรรมปางช้างเพื่อการท่องเที่ยว หรือการยกระดับวิชาชีพควาญช้าง ฯลฯ แต่ทั้งหมดมีฐานแนวคิดที่ต้องการใช้ประโยชน์จากช้าง
อย่างไม่รู้จบ เป็นผลให้เมื่อปี พ.ศ. 2565 องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญและองค์กรภาคี
อาทิ ตัวแทนกรมปศุสัตว์และกรมอุทยาน อ.ประสพ ทิพย์ประเสริฐ คุณหาญณรงค์ เยาวเลิศ ฯลฯ
จัดทำ ‘ร่าง พ.ร.บ.ช้างไทย’ ฉบับภาคประชาสังคม และได้รับการสนับสนุน จากประชาชนชาวไทยผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งกว่า 15,938 คน ร่วมเข้าชื่อเสนอกฎหมายไปยังรัฐสภา แต่ปัจจุบันอยู่ ระหว่างการพิจารณาโดยนายกรัฐมนตรี (อ่านต่อรายละเอียดร่าง พ.ร.บ.ช้างไทย)


คุณหทัย ลิ้มประยูรยงค์ ผู้จัดการแคมเปญสัตว์ป่า องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย
กล่าวว่า ‘ร่าง พ.ร.บ. ช้างไทย’ ฉบับภาคประชาสังคม เป็นความพยายามที่จะจัดการสวัสดิภาพช้างเลี้ยง ครอบคลุมการยุติการฝึกช้างด้วยวิธีการที่โหดร้ายทารุณ การบังคับให้ช้างแสดงพฤติกรรมที่ผิดจากธรรมชาติ รวมทั้งควบคุมจำนวนประชากรช้างที่อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจากมุมมองของประชาชน มิติทางสังคม
และเทรนด์โลกที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับการแสวงหาประโยชน์จากสัตว์ป่า หากตัวร่างฯ ผ่านการพิจารณาโดยนายกฯ
ก็จะเข้าสู่กระบวนการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น ซึ่งจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนของผู้ที่เห็นด้วยและเห็นต่าง และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อความพยายามที่จะหาทางออกร่วมกัน
โดยคำนึงถึงทั้งสวัสดิภาพของช้างและสวัสดิภาพของคน รวมไปถึงมิติด้านวัฒนธรรม ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ
และรายได้ของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งระบบ เพราะเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน รัฐบาลจึงต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ”


คุณมารีญา พูลเลิศลาภ ทูตองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าวว่า “ส่วนตัวสนับสนุนให้มีกฎหมายจัดการช้างที่อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบ เพราะไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์ต่อสวัสดิภาพของช้างแล้ว ยังส่งผลต่อภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ สอดคล้องกับบริบทในปัจจุบันที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ต่างก็มองหาโปรแกรมท่องเที่ยวที่มีจริยธรรม มีความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และสวัสดิภาพสัตว์”
(อ่านต่อรายละเอียดร่าง พ.ร.บ.ช้างไทย)
(ภาพประกอบข่าว สแกน QR code)

###