COP29: ล้มเหลวปฏิรูประบบอาหาร ปล่อยวิกฤตโลกร้อนลุกลาม

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection) ขอแสดงความกังวลต่อผลการประชุม COP29 (หรือการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29) ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา หลังตัวแทนจากทุกประเทศได้ร่วมตกลง “เป้าหมายทางการเงินใหม่” (New Collective Quantified Goal on Climate Finance: NCQG) โดยมุ่งจัดสรรงบประมาณในการจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ตัวเลขเงินสนับสนุนที่ตั้งไว้กลับต่ำเกินกว่าที่จะใช้รับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง

 

แม้จะเป็นเรื่องดีที่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและกลุ่มทุนข้ามชาติ ได้ให้คำสัญญาว่าจะสนับสนุนเงิน
จำนวน 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ตัวเลขนี้ดูห่างไกลจาก 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าจำเป็นต่อการบรรเทาผลกระทบที่รุนแรงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อปกป้องชุมชนที่เปราะบาง สัตว์ป่า และหยุดยั้งความทุกข์ทรมานของสัตว์ที่อยู่ในระบบอุตสาหกรรมอาหาร

เคลลี่ เดนต์ ผู้อำนวยการฝ่ายเครือข่ายความร่วมมือ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ซึ่งเข้าร่วมการประชุม COP29 กล่าวว่า “COP29 จะถูกจดจำว่าเป็น ‘การเลี่ยงจากความรับผิดชอบทางการเงินครั้งใหญ่’ หลังการเจรจาอย่างดุเดือดตลอดสองสัปดาห์ บรรยากาศเต็มไปด้วยความพยายามที่จะประวิงเวลา และลดทอนความตั้งใจจริงของการแก้ไขปัญหา ในที่สุดประเทศที่ร่ำรวยได้เลี่ยงความรับผิดชอบอีกครั้ง โดยเสนองบประมาณเพียงเล็กน้อย ในขณะที่โลกกำลังลุกเป็นไฟ พลเมืองโลกและสัตว์นับล้านกำลังทนทุกข์”

“นี่ไม่ใช่แค่เรื่องการรักษาเป้าหมายเพื่อจำกัดอุณหภูมิโลกให้สูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศา แต่ยังเป็นเรื่องของความยุติธรรมต่อผู้ผลิตอาหารเพื่อหล่อเลี้ยงประชากรโลก แต่พวกเขากลับถูกทอดทิ้งให้แบกรับกับผลกระทบตามลำพัง นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องของระบบนิเวศที่ใกล้ล่มสลาย และสัตว์นับพันล้านที่ต้องทนทุกข์ในระบบอุตสาหกรรมอาหารที่ขับเคลื่อนด้วยกำไร และทำลายสภาพภูมิอากาศไปพร้อมๆ กัน”

“แทนที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง แต่เรากลับได้เพียงการแสดงเชิงสัญลักษณ์ที่แสร้งทำว่าเป็นทางออก ในขณะที่วิกฤตความหลากหลายทางชีวภาพทวีความรุนแรงขึ้น ที่อยู่อาศัยถูกทำลาย สัตว์จำนวนมากต้องทุกข์ทรมาน และชุมชนทั้งหมดถูกทิ้งไว้ให้เผชิญกับผลกระทบที่รุนแรงขึ้นของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ”

ความล้มเหลวของการจัดการแก้ปัญหาที่ต้นตอ – การเกษตรเชิงอุตสาหกรรม
การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากระบบการผลิตอาหารโลกยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ COP29 กลับไม่ให้ความสำคัญกับการจัดการปัญหาในส่วนนี้ เกษตรเชิงอุตสาหกรรม—โดยเฉพาะฟาร์มสัตว์อุตสาหกรรม—เป็นต้นตอของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำลายที่อยู่อาศัย ส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหาร และทำให้สัตว์ฟาร์มได้รับความทุกข์ทรมาน

เคลลี่ เดนต์ เน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังว่า “เราไม่สามารถสนับสนุนระบบที่ทำลายสภาพภูมิอากาศ ส่งผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และความทุกข์ยากของประชากรโลกได้อีกต่อไป เพราะฉะนั้นแนวทางด้านการเกษตรที่ยั่งยืน มีมนุษยธรรม และเท่าเทียมต้องเข้ามาแทนที่เกษตรเชิงอุตสาหกรรม ทางออกนี้ไม่เพียงช่วยแก้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ แต่ยังช่วยยุติความทุกข์ทรมานของสัตว์นับพันล้านตัวที่อยู่ในฟาร์มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่”

‘บรรษัทเกษตร’ เข้าครอบงำการเจรจาเรื่องสภาพภูมิอากาศ
แม้ว่าแนวคิด Harmoniya Climate (โครงการที่มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้กับเกษตรกรและชุมชนชนบท โดยส่งเสริมระบบการเกษตรที่ยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศ) ที่เปิดตัวใน COP29 จะดูเป็นแนวคิดที่ดี แต่ในทางปฏิบัติ อาจได้รับอิทธิพลจากกลุ่มธุรกิจการเกษตร
“เสียงจากผู้ผลิตรายย่อย—หรือกลุ่มคนที่มีส่วนสำคัญต่อระบบอาหารที่ยั่งยืน—เวลานี้ ถูกกลบด้วยบรรดาล็อบบี้ยิสต์ของระบบอุตสาหกรรมที่ปกป้องผลกำไรเหนือผลกระทบต่อโลกและสิ่งแวดล้อม UNFCCC ต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาด เพื่อลดอิทธิพลของกลุ่มธุรกิจการเกษตร หากต้องการกู้ความน่าเชื่อถือก่อนการประชุมครั้งถัดไปของ COP30 ที่เมืองเบเล็ง ประเทศบราซิล” เคลลี่ เดนต์ กล่าวถึงบทบาทของล็อบบี้ยิสต์ในอุตสาหกรรมนี้

ผลกระทบต่อประเทศไทยและก้าวสำคัญต่อการปฏิรูประบบอาหาร
ประเทศไทยถูกจัดเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงด้านภูมิอากาศโลกสูงถึงอันดับ 9 จากกว่า 180 ประเทศทั่วโลก ดังนั้นเราจึงอยากเรียกร้องให้ภาครัฐของไทยให้ความสำคัญกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรมการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลี้ยงสัตว์แบบอุตสาหกรรม
ผลกระทบจากการขยายตัวของฟาร์มสัตว์อุตสาหกรรมเกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย ปรากฏการณ์น้ำท่วมฉับพลันที่เกิดขึ้นในภาคเหนือ และปัญหาหมอกควัน PM2.5 ที่เพิ่มสูงขึ้นในหน้าแล้ง และทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี ล้วนมีสาเหตุสำคัญมาจากธุรกิจอาหารสัตว์ที่ขยายตัวในประเทศและภูมิภาคนี้ ส่งผลต่อการสูญเสียพื้นที่ป่า ความหลากหลายทางชีวภาพ และส่งผลให้ภัยพิบัติที่เกิดถี่และรุนแรงเพิ่มมากขึ้น

โชคดี สมิทธิ์กิตติผล ผู้จัดการแคมเปญระบบอาหาร องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (ประเทศไทย) กล่าวว่า“ไทยจะไม่สามารถเป็นครัวของโลกได้ และอาจไม่สามารถเป็นครัวให้กับคนไทยเองได้ด้วยซ้ำ หากเราปล่อยให้ระบบอาหารที่พึ่งพิงความเป็นอุตสาหกรรมขยายตัวต่อไปเช่นนี้ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคการเกษตรของเรา มีรายงานและหลักฐานต่างๆที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ที่พิสูจน์ให้เราเห็นชัดแล้วว่า เราจำเป็นต้องเริ่มปรับเปลี่ยนระบบอาหารโดยด่วน”
องค์กรพิทักษ์สัตว์โลกจะยังคงผลักดันการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมไป สู่ระบบอาหารที่ให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ของคน ปกป้องสัตว์ และสร้างอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับทุกชีวิตบนโลก
สามารถติดตามงานของเราและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นได้ที่ www.worldanimalprotection.or.th

เครดิตภาพถ่าย :
ภาพโรงเลี้ยงไก่ขนาดใหญ่ © iStock/DuxX
ภาพรถแทรกเตอร์ © iStock.com/fotokostic
ภาพแผงขายเนื้อสัตว์ © World Animal Protection/Julia Bakker
ภาพบุคคล © World Animal Protection
ภาพไร่ข้าวโพดแห้งแล้ง © World Animal Protection
###