เตรียมพบกับ! การจัดงานแสดงสินค้า MEGA HALAL Bangkok 2025 ครั้งยิ่งใหญ่แห่งปี เวทีแห่งโอกาส ดันไทยขึ้นแท่นศูนย์กลางอาหารฮาลาล

เตรียมพบกับ! การจัดงานแสดงสินค้า MEGA HALAL Bangkok 2025 ครั้งยิ่งใหญ่แห่งปี เวทีแห่งโอกาส ดันไทยขึ้นแท่นศูนย์กลางอาหารฮาลาล

กรุงเทพ: สำนักงานคณะกรรมการการอิสลามแห่งประเทศไทย ร่วมกับ บริษัท เวิลด์เด็กซ์ จี.อี.ซี. จำกัด และ บริษัท คอมเอเชีย จำกัด (ComAsia) แถลงข่าวพิธีลงนามความร่วมมือในการจัดงาน MEGA HALAL Bangkok 2025 : งานแสดงสินค้านานาชาติที่ครอบคลุมไลฟ์สไตล์ฮาลาลครั้งใหญ่ของประเทศไทยกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-18 กรกฎาคม 2568 ณ. ศูนย์นิทรรศการ และการประชุมไบเทคบางนา

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการสร้างความแข็งแกร่งของประเทศไทยในฐานะที่เป็นประตู หรือ ศูนย์กลางฮาลาลแห่งเอเชียในเชื่อมต่อชาวมุสลิมกว่า 2,000 ล้านคน ขณะเดียวกัน ตลาดฮาลาลในประเทศไทยปัจจุบันก็เป็นตลาดที่ใหญ่มาก โดยปี 2566-2567 ที่ผ่านมา มีมูลค่าตลาดถึง 2.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

อย่างไรก็ดี บรรยากาศของงานแถลงข่าวครั้งนี้ ทางคณะผู้จัดงานยังได้รับเกียรติอย่างสูงจาก รศ. ดร.อิสมาแอ อาลี ประธานฝ่ายกิจการฮาลาล คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย มาร่วมกล่าว ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ HALAL : ” PURITY WAY OF LIFE ” ว่า
ฮาลาลไม่ใช่แค่เรื่องของอาหาร การกิน อย่างเดียว แต่รวมถึงวิถีชีวิตทุก ๆ ด้านของชาวมุสลิมที่ต้องรักษาตนเองให้อยู่ทางที่บริสุทธิ์ และทำทุกสิ่งอย่างถูกต้อง ตามหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม

ดังนั้น การจัดงานครั้งนี้จึงมีเป้าหมายเพื่อเน้นย้ำบทบาทไทยในฐานะศูนย์กลางอาหารฮาลาลระดับโลกและส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจที่ยั่งยืนในอุตสาหกรรมฮาลาล เพราะประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิต อีกทั้งมีหน่วยงานให้การรับรองมาตรฐานอาหารฮาลาลอย่างเป็นทางการ จึงสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคที่จะช่วยกันผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอาหารฮาลาลได้โดยสมบูรณ์

 

นอกจากนี้ ภายในงานแถลงข่าวฯ ยังได้นำเสนอภาพรวมของงาน MEGA HALAL Bangkok 2025 โดย คุณนิคม เลิศมัลลิกาพร ประธาน บริษัท เวิลด์เด็กซ์ จี อี ซี จำกัดในฐานะผู้จัดงาน ประกอบกับการเปิดเวทีร่วมรับฟังเสวนาในหัวข้อต่าง ๆ เช่น ฮาลาลกับวิถีชีวิตระดับโลก (Thai Halal Global Lifestyle) และโอกาสของสินค้า บริการ ฮาลาลไทยในตลาดโลก, นวัตกรรมและโอกาสทางธุรกิจฮาลาลในอนาคต รวมถึงเรื่องศักยภาพของกรุงเทพฯ ในการเป็นศูนย์กลางฮาลาลแห่งเอเชีย จาก 6 ผู้เชี่ยวชาญ ด้วยกัน ได้แก่ นาย
สุวัฒน์ กูบกระบี่ เลขานุการฝ่ายกิจการฮาลาลคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการการอิสลามแห่งประเทศไทย

ตามมาด้วย รศ.ดร.ปกรณ์ ปรียากร ที่ปรึกษาเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย , นางสาวดรัสวันต์ ชูวงษ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) , ดร.ชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ, ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นางนุจรี ภักดีเจริญ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารกลุ่มงานธุรกิจ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์)

โดย นายนิคม เลิศมัลลิกาพร ประธาน บริษัท เวิลด์เด็กซ์ จี อี ซี จำกัด ในฐานะผู้จัดงาน MEGA HALAL
Bangkok 2025 ร่วมกับ บริษัท ComAsia เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา จุดเริ่มต้นของตลาดฮาลาลมาจากความร่วมมือของชาวมุสลิมกับผู้ประกอบการไทยที่ไม่ใช่ชาวมุสลิม และองค์กรศาสนาอิสลาม โดยมีเป้าหมายที่จะช่วยกันพัฒนาสินค้า และอุตสาหกรรมฮาลาล จนนำไปสู่การสร้างรายได้กลับคืนมายังเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างมากมาย

จนปัจจุบันตลาดฮาลาล กลายเป็นตลาดที่ใหญ่มาก ทั่วโลกมีมูลค่าถึง 2.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และ มีชาวมุสลิมมากกว่า 2,000 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันเป็นกลุ่มคนอายุน้อยที่ถือว่าเป็นตลาดใหม่ที่สำคัญ ทั้งเรื่องของการมีศักยภาพในการทำธุรกิจ และความต้องการสินค้าที่มีหลากหลายมากขึ้น ดังนั้นการจัดงานครั้งนี้จึงเป็นโอกาสของอาหารฮาลาลไทยที่จะเข้าถึงตลาดเอเชียและตะวันออกกลางรวมกันกว่า 41 ประเทศ

เนื่องจาก ปัจจุบันประเทศไทยมีความเหมาะสมทุกด้านที่จะเป็นศูนย์กลางอาหารฮาลาล ทั้งวัตถุดิบที่มีความพร้อม แหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม มีการบริการเกี่ยวกับธุรกิจสุขภาพที่ดี ทำให้ทุกงานระดับโลกหันมาจัดที่ประเทศไทยมากขึ้น

ทำให้การจัดงาน MEGA HALAL Bangkok 2025 ระหว่างวันที่ 16-18 กรกฎาคม 2568 ครั้งที่ 4 ณ. ศูนย์นิทรรศการ และการประชุมไบเทคบางนา จะเป็นการรวบรวมผลิตภัณฑ์ฮาลาล ที่ถูกคัดสรรมาอย่างดีจากผู้ขาย, ผู้ผลิตผู้จัดจำหน่าย, ผู้ค้าปลีกโรงแรม ที่มีเครื่องหมายการค้า HALAN ในทุกภาคอุตสาหกรรม กว่า 15,000 ราย หรือ 400-500 บริษัท ใน 10 ประเทศ ที่จะมาร่วมออกบูธกว่า 1,500 บูธ อาทิ ธุรกิจแฟชั่นเสื้อผ้า รองเท้า, Food & Beverage ทั้งอาหารแห้ง, ขนมขบเคี้ยว

รวมถึง ธุรกิจความงาม Wellness & Health เครื่องสำอาง, น้ำหอม, สปา, ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และธุรกิจ Tourism Package ท่องเที่ยวที่พัก,ความบันเทิง, ของที่ระลึก มาร่วมออกบูธจัดงานแสดงสินค้า ในครั้งนี้ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้น หรือ การใช้ประเทศไทยเป็นประตูเปิดเชื่อมไปสู่การขยายธุรกิจและการลงทุน ของตลาดฮาลาลออกไปสู่ตลาดโลก มากขึ้น

” นับว่าการจัดงาน MEGA HALAL Bangkok 2025 ครั้งยิ่งใหญ่ที่จะขึ้นปีละ 1 ครั้ง โดยปีนี้จะสามารถการันตีได้ว่าจะมีผู้เข้ามาร่วมงาน รวมถึงผู้ซื้อต่างชาติอื่น ๆ เข้ามา Checkin ที่พักในโรงแรมไม่ต่ำกว่า 5,000 ห้องขึ้นไป เนื่องจากตลาด ฮาลาล หรือ ตลาดมุสลิม กำลังเป็นเทรนด์ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจอย่างมาก “คุณนิคม ฯ ประธาน บริษัท เวิลด์เด็กซ์ กล่าว

 

อย่างไรก็ดี ในส่วนของรายละเอียดด้านการเปิดเวทีร่วมรับฟังเสวนาตามหัวข้อต่าง ๆ เช่น ฮาลาลกับวิถีชีวิตระดับโลก (Thai Halal a Global Lifestyle) และโอกาสของสินค้า บริการ ฮาลาลไทยในตลาดโลก, นวัตกรรมและโอกาสทางธุรกิจฮาลาลในอนาคต รวมถึงเรื่องศักยภาพของกรุงเทพฯ ในการเป็นศูนย์กลางฮาลาลแห่งเอเชีย จาก 6 ผู้เชี่ยวชาญ มีดังนี้

นายสุวัฒน์ กูบกระบี่ เลขานุการฝ่ายกิจการฮาลาลคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการการอิสลามแห่งประเทศไทย เรื่องฮาลาลกับวิถีชีวิตระดับโลก (Thai Halal Global Lifestyle) ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีเอกลักษณ์ในเรื่องของอาหารการกิน จนขึ้นชื่อว่าเป็นครัวของโลก

ขณะเดียวกัน ศาสนาอิสลามก็มีประชากรมากจนติดเป็นอันดับ 2 ของประชากรโลก ประมาณ 2,000 ล้านคน จึงส่งผลแบรนด์สินค้าต่าง ๆ หันมาให้ความสำคัญ และสนใจเกี่ยวกับเรื่องของฮาลาล มากขึ้น เพราะเป็นผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ ดังนั้นสินค้าฮาลาล จึงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยควรให้ สนใจ และศึกษา เพราะเวลาที่พี่น้องชาวมุสลิมเห็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าฮาลาลจะเกิดความไว้วางใจที่จะบริโภค มากกว่า

ดังนั้นเครื่องหมายฮาลาล สำหรับผู้ประกอบการประเทศไทยเป็นเหมือนการเปิดประตูสู่โอกาสในการ ขยายตลาดไปยังชาวมุสลิมมากขึ้น เพราะจากข้อมูลล่าสุดของเว็บไซต์คณะกรรมการจากอิสลามแห่งประเทศไทย ระบุว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการประเทศไทยที่ได้รับการรับรองเครื่องหมายฮาลาลทั้งสิ้น 7,085 ราย มีผลิตโรงงาน 4,467 แห่ง ที่ได้รับเครื่องหมายการค้า จำนวน 17,134 เครื่องหมาย คิดเป็นผลิตภัณฑ์ทั้งหมด 19,580 ผลิตภัณฑ์

ตัวเลขนี้แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการไทยจำนวนไม่น้อยตื่นตัวในเรื่องของการผลิตสินค้าที่ต้องมีฮาลาล ส่งผลทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศอันดับต้น ๆ ของการส่งออกสินค้าฮาลาลไปทั่วโลก

ทางด้าน รศ.ดร.ปกรณ์ ปรียากร ที่ปรึกษาเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย กล่าวว่า
การรับรองผลิตภัณฑ์ฮาลาลที่มีอยู่ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ไม่ใช่บริษัทมุสลิมแสดงให้เห็นว่าทุกบริษัทให้ความสนใจในตลาดฮาลาล ดังนั้นนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลกก็จะเป็นอีกส่วนที่จะช่วยผลักดันให้อาหารฮาลาลส่งออกได้มากขึ้น ซึ่งในปีที่ผ่านมามีมูลค่ามากถึง 7 พันล้านดอลลาร์ มีอัตราการเติบโตสูงถึง 8% ต่อปี

ขณะที่ นางสาวดรัสวันต์ ชูวงษ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดฮาลาลมีศักยภาพสูงมาก ประเทศบราซิล มีการส่งออกเป็นอันดับ 1 ส่วนประเทศไทยอันดับที่ 15 โดยมีประชากรมุสลิมแทรกอยู่ในทุก ๆ ประเทศ ส่งผลให้อัตราการเติบโตทั้งอาหารและ ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง มีอัตราการเติบโตเกือบ 9 % อัตราการจ่ายเงินต่อหัว สูงถึง 3,510 บาทต่อคนต่อวัน

จึงนับเป็นโอกาสของสินค้าและบริการฮาลาลไทยในตลาดโลก เพราะที่ผ่านมา EXIM BANK ก็พร้อมให้สนับสนุนการเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs ไทยให้สามารถส่งออกสินค้าฮาลาลไปยังตลาดต่างประเทศได้ ผ่านการเติมความรู้ เติมโอกาส และเติมเงินทุน รวมถึงเครื่องมือบริหารความเสี่ยงทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการสนับสนุนส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการนำไปใช้ผลิตสินค้าฮาลาลเพื่อการแข่งขันในตลาดโลกให้ได้มากที่สุด

เช่นเดียวกับ นางนุจรี ภักดีเจริญ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารกลุ่มงานธุรกิจ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) กล่าวว่า นวัตกรรมจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีเงิน ดังนั้นการสนับสนุนเงินของฮาลาลของ(ไอแบงก์) จะทำให้สินค้าฮาลาลที่ถูกพัฒนาขึ้นมา มีความเป็น reality ขึ้น ปัจจุบันทั่วโลกมีธนาคารอิสลาม ทั้งหมด 240 ประเทศ หรือ 240 แห่ง เป็นธนาคารที่ติดตลาดอยู่อันดับที่ 69 ถือว่าเป็นธนาคารที่ฐานะการเงินที่เข้มแข็งมาก เช่นกัน

ขณะที่ ดร.ชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวว่า โอกาสสินค้าฮาลาลมีอยู่แล้ว แต่ต้องเพิ่มเรื่องนวัตกรรมและงานวิจัย (R&D) ทั้งนี้ ในกลุ่มสินค้าที่เป็น OEM ต้องพัฒนาโดยการข้อมูลองค์ความรู้ของแต่ละตลาด เพื่อนำมาผลิตให้ตรงกับความต้องการสินค้า โดยเฉพาะสินค้าแฟชั่นต้องพัฒนาใช้วัตถุดิบที่ระบายเหงื่อได้ดี ป้องกันยูวี ไม่เป็นภาระกับสิ่งแวดล้อม

รวมถึงการนำผลงานวิจัยมาช่วยขับเคลื่อนให้กลายเป็นสินค้านวัตกรรมใหม่ ๆ ที่มีความหลากหลายมิติ ทั้งเรื่องมิติของการใช้วัสดุ, มิติของการออกแบบ, มิติของการพัฒนาอาหารทางเลือก เช่น Plant Base โปรตีนจากพืช และ มิติสินค้าใหม่ ๆ ที่ช่วยในเรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อม และลดโลกร้อน เป็นต้น

สุดท้าย ทางด้านดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันประเทศไทยถือว่าเป็นศูนย์กลางฮาลาลแห่งเอเชีย ที่ไม่ได้มีแค่ 3 ชายแดนจังหวัดภาคใต้ ที่ป็นเส้นทางน้ำ หรือ พื้นที่ชื่อมต่อลงไปยังประเทศอินโดนีเซียและ มาเลเซีย เท่านั้น แต่อีกมุมมองหนึ่ง ภาคเหนือของประทศไทยถือว่าเส้นทางบกในการเชื่อมพื้นที่ไปสู่ประเทศ บังคลาเทศ, ปากีสถาน, อัฟกานิสถาน และ อินเดีย เป็นประเทศเดียวที่มีประชากรมุสลิมมากกว่า 200 ล้านคน เรียกได้ว่าประเทศทั้งหมดนี้เป็นตลาดมุสลิมที่อยู่ใกล้กับประเทศไทย และเป็นตลาดที่ใหญ่มากสุดที่ไม่สามารถมองข้ามได้

” ด้วยเหตุนี้การจัดงาน MEGA HALAL Bangkok 2025 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-18 กรกฎาคม 2568 ณ. ศูนย์นิทรรศการ และการประชุมไบเทคบางนา จึงเป็นงานสำคัญระดับโลกเพราะเป็นการเน้นย้ำบทบาทของประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางฮาลาลระดับโลก และส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจที่ยั่งยืนในอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศไทยเพื่อก้าวไปสู่ ตลาดโลกในอนาคตมากยิ่งขึ้น แล้วพบกันในงานครับ” ดร.ศราวุฒิ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา จุฬาลงกรณ์ ฯ กล่าวปิดท้าย